จิตรกรรมในพุทธศาสนา
เริ่มสมัยประวัติศาสตร์เมื่อวัฒนธรรมทางศาสนาแพร่หลายเข้ามาศิลปกรรม และภาษาหนังสือ ก็ย่อมแพร่หลายเข้ามาพร้อมกันนั้นด้วยศิลปกรรมเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสั่งสอนโดยเพิ่มเติมการถ่ายทอดภาษาพูดและภาษาเขียนด้วย ภาษาภาพ กล่าวคือ เล่าเรื่องด้วยภาพ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาในหมู่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
แหล่งกำเนิดศาสนาที่เผยแผ่เข้ามานั้นคือประเทศอินเดีย อารยธรรมอินเดียซึ่งแพร่หลายออกสู่โลกภายนอกราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่เรียกว่า ทวาราวดี ซึ่งรับนับถือพุทธศาสนา
ศิลปกรรมในวัฒนธรรมทางทวาราวดี ทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสอนในพุทธศาสนาให้เป็นรูปธรรม เช่น สร้างพระพุทธรูป หรือสร้างงานประติมากรรมเล่าเรื่องในศาสนา เช่น พุทธประวัติชาดก โดยสลักลงบนหิน หรือใช้ปูนปั้น รวมทั้งสร้างอาคารศาสนสถานที่ก่อด้วยอิฐ ปรากฏเป็นหลักฐานร่องรอยให้เห็นอยู่ แต่ไม่เหลือปรากฏหลักฐานทางด้านจิตรกรรม คงชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว เพราะงานจิตรกรรมเขียนด้วยวัสดุที่ไม่คงทน ถูกแดดถูกฝนไม่นานก็หมดไป
สมัยสุโขทัยเริ่มต้นเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการติดต่อเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาของประเทศพม่า ลังกา จิตรกรรมของสมัยสุโขทัยจึงมีส่วนคล้ายคลึงกับจิตรกรรมของลังกา และพม่าอยู่บ้าง แต่ยังมีเอกลักษณ์ของตนเองที่เด่นชัดเป็นพิเศษตามลักษณะไทย มีการสืบทอดผ่านมาสู่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การติดต่อกับต่างบ้านต่างเมืองนำพาให้มีการถ่าย-รับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จิตรกรรมไทยแบบประเพณีได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนที่เข้ามาผสมผสานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว และเด่นชัดมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จ-พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าอดีต จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทบาทอย่างมากมายของอิทธิพลตะวันตกจึงมีผลต่อโฉมหน้าของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี การผสมผสานครั้งนี้ได้ทำให้ลักษณะแบบประเพณีแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็กลายมาเป็นลักษณะสากล หรือที่เรียกว่าจิตรกรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน
ที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 20 |