การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน(Concentration - Based Learnin)
การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน( Concentration - Based Learnin
การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน( Concentration - Based Learning ) หรือ (CBL.) 
การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน ( Concentration -  Based  Learning ) ดังที่จะเรียกให้มีความเข้าใจว่า  CBL. นี้ เป็นแนวคิดซึ่งผู้เขียนนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงสั่งสอน ให้พุทธศาสนิกชน ถือหลักปฏิบัติในเรื่อง ของ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  โดยนำผลจากการทดลองปฏิบัติของตนเอง ตลอดจนการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับวิธีการ หลักการของสมาธิ มาใช้  เห็นว่า ถ้านำเอาสมาธิ มาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้แล้ว ก็จะส่งผลให้นักเรียน และผู้ปฏิบัติ ได้รับความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการจัดการเรียนรู้ อันประกอบด้วย การวิเคราะห์  การสังเคราะห์ การนำไปใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  โดยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ สำหรับทางโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 95 (วัดโพธิ์ทองบน) ได้นำมาทดลองเป็นโครงการนำร่อง ตามบริบทของโรงเรียน

การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน คือ อะไร  ?
การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน คือ การเรียนรู้ที่เกิดจากความตั้งใจของตัวผู้เรียน เอาจิตใจจดจ่อกับเรื่องที่เรียน อย่างมีระบบ ต่อเนื่อง ครบวงจร จนเป็นสมาธิ ต่อกระบวนการเรียนรู้ ทั้งการฟัง  การคิด  การพูด  การเขียน  การอ่าน หรือการทำกิจกรรมอื่นใด ที่มีต่อการเรียนรู้นั้น

มีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร ในการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน
การเรียนจะไม่สัมฤทธิผลหรือประสบผลสำเร็จแก่ผู้เรียน  ถ้าผู้เรียนไม่สนใจ  ไม่ใฝ่ใจ และไม่ตั้งใจที่จะรับความรู้จากครู ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดให้  การเรียนรู้โดยขาดจิตสำนึกที่ดีว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ทำไม ในทางตรงข้ามถ้าผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการเรียนรู้ เข้าใจถึงประโยชน์ คุณค่า ต่อการเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนก็สามารถประสบผลสำเร็จได้ดั่งความตั้งใจ  แต่ความสำเร็จในการได้รับความรู้นั้นจะมากหรือน้อย อยู่ในระดับใด  สมาธิในการเรียนรู้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนกำหนดให้สามารถรับรู้เรื่องราว  ประสบการณ์  ได้อย่างมีระบบ  ต่อเนื่อง  ครบวงจร

การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน จะใช้เมื่อใดกับใคร
การเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน ( Concentration -  Based  Learning )  นี้ เป็นรูปแบบ ที่ให้ครู เลือกใช้เป็นแนวปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอน ได้ทุกสาระซึ่งสามารถเริ่มต้นก่อนการเรียน ระหว่างเรียน ภายหลังการเรียน หรือในขณะทำกิจกรรมอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้โดยสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับวัย  ระดับชั้น  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนที่จะต้องเข้าใจ  รู้ถึงพื้นฐานของสมาธิ และระดับความสนใจ ความตั้งใจ ของผู้เรียน หรือหลักจิตวิทยาการเรียนรู้ ในแต่ละระดับวัย  ระดับชั้น เป็นสำคัญด้วย นอกจากนี้ครูจะต้องเข้าใจถึงวิธีการ หลักการ ในการนำสมาธิเข้าสู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนผู้เรียนจะต้องร่วมมือในแนวทางการปฏิบัติด้วย

กระบวนการสอนของครู
1. จัดกิจกรรมการฝึกสมาธิเป็นประจำทุกวันในแต่ละห้องเรียน
2. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการใช้สมาธิ
3. จัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการการใช้สมาธิกับสาระการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ
4. เชื่อมโยงสมาธิเข้ากับชีวิตประจำวันให้นักเรียนเห็นความสำคัญ
5. เน้นการยกย่อง ชมเชย นักเรียน
6. ประเมินและพัฒนากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้โดยใช้สมาธิ

บทบาทครู
1. เป็นแบบอย่างที่ดี
2. เป็นผู้จัดและสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยใช้สมาธิ
3. ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ให้คำปรึกษาที่ดี
4. จัดกิจกรรมปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนของนักเรียน
5. สร้างขวัญกำลังใจด้วยการยกย่อง ชมเชย
6. ประเมินพัฒนาการของนักเรียนรายบุคคล

กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน
1. ฝึกปฏิบัติการเรียนรู้โดยใช้สมาธิในการเรียน
2. เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีจิตใจจดต่อต่อเรื่องที่เรียน
3. ใช้สมาธิในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนการสอนและกิจกรรมต่าง ๆ 
4. สังเกตความเปลี่ยนของตนเองในด้านการรับความรู้
5. นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาบูรณาการ กับการเรียนรู้ทุกสาระ

บทบาทของผู้เรียน
1. ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมด้วยความเต็มใจ
2. สังเกตคิดวิเคราะห์ประเมินค่า
3. มีจิตใจจดจ่อ  ใฝ่รู้ใฝ่เรียน
4. คิดอย่างมีวิจารญาณ
5. ประเมินตนเองด้วยความเป็นธรรม

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน
 การประสบความสำเร็จ จะบังเกิดผลขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เรียนคนใด มีความตั้งใจจริง มีความแน่วแน่มั่นคง 
รู้หลักของวิธีรู้   รู้หลักของวิธีเรียน  โดยการประสานความรู้ ความเข้าใจ  เกี่ยวกับ การฟัง  การคิด  การพูด  การอ่าน  การเขียน  การพิจารณา  การปฏิบัติกิจกรรมอื่นใด ต่อการเรียนรู้นั้น โดยบูรณาการเข้าด้วยกันเป็นองค์ความรู้  ผู้เรียนก็จะสามารถแสดงออกมาในรูปของการปฏิบัติกิจกรรม  การปฏิบัติตามคำสั่ง  คำชี้แจง  ตามเครื่องมือ  หรือสิ่งที่ครูผู้สอนต้องการวัดได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจเรียกว่า ผู้เรียนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมิน ตามจุดมุ่งหมาย จุดประสงค์ หรือการเรียนรู้ที่คาดหวัง  ที่ครูผู้สอนกำหนด ได้อย่างน่าพึงพอใจ

ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ
        สิ่งสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน  ผู้เรียนจะต้องยึดปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ 4 ส  คือ
สะอาด   สว่าง  สงบ  สติ
สะอาด  หมายถึง  ผู้เรียนจะต้องมีความรู้สึกนึกคิดเริ่มต้นก่อนเรียนที่เป็นความว่างเปล่าของ
ความคิดและพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดความรู้ที่จะได้รับต่อไป
 สว่าง  หมายถึง  ผู้เรียนมีจิตใจที่อิ่มเอิบ  เบิกบาน พร้อมที่จะรับการถ่ายทอดความรู้
 สงบ  หมายถึง  ผู้เรียนจะต้องมีจิตใจที่สงบ  เยือกเย็น  สุขุม  นิ่ง  ไม่คิดฟุ้งซ่าน
 สติ  หมายถึง  ผู้เรียนจะต้องมีสติ  ระลึก  รู้สึกตัวในขณะปฏิบัติทุกเมื่อ

ปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ  ได้แก่  รู้  เข้าใจ  เข้าถึง  ปฏิบัติ
รู้  หมายถึง  มีความรู้เกี่ยวกับสมาธิ รู้วิธีการ แนวปฏิบัติ ว่าสมาธิ จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีจิตใจแน่วแน่ 
                    มั่นคงในความตั้งใจเรียน  ในการรับรู้สิ่งที่คุณครู จะถ่ายทอด  
 เข้าใจ  หมายถึง  ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับหลักของสมาธิ  เข้าวิธีการทำสมาธิ  
 เข้าถึง  หมายถึง  ผู้เรียนเข้าถึงวิธีการ  หลักการของสมาธิ
 ปฏิบัติ  หมายถึง  ผู้เรียนร่วมมือปฏิบัติในการนำเอาสมาธิมาใช้เป็นฐานเริ่มต้นของการเรียน

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค  4  ม  ได้แก่  ไม่รู้  ไม่เข้าใจ  ไม่เข้าถึง  ไม่ปฏิบัติ
ไม่รู้  หมายถึง  ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสมาธิ ไม่รู้วิธีการ แนวปฏิบัติ ว่าสมาธิ จะช่วยทำให้ผู้เรียนมี
จิตใจแน่วแน่มั่นคงในความตั้งใจเรียน  ในการรับรู้สิ่งที่คุณครู จะถ่ายทอด  
 ไม่เข้าใจ  หมายถึง  ผู้เรียนไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักของสมาธิ  ไม่เข้าวิธีการทำสมาธิ  
 ไม่เข้าถึง  หมายถึง  ผู้เรียนยังไม่เข้าถึงวิธีการ  หลักการของสมาธิ
 ไม่ปฏิบัติ  หมายถึง  ผู้เรียนไม่ร่วมมือปฏิบัติในการนำเอาสมาธิมาใช้เป็นฐานเริ่มต้นของการเรียน

มาตรฐานครูในการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน
1. ครูต้องเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน
2. ครูต้องตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้โดยใช้สมาธิเป็นฐาน
3. ครูต้องให้นักเรียนฝึกฝนวิธีการใช้สมาธิในการเรียนรู้
4. ครูต้องสอดแทรกให้นักเรียนรู้จักการใช้สมาธิเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน
5. ครูต้องเห็นความสำคัญของการใช้สมาธิเป็นฐานในการเรียนรู้
6. ครูต้องร่วมแสดงออกเกี่ยวกับการใช้สมาธิเป็นฐานในการเรียนรู้
7. ครูต้องมีวินัยในการสอน

กลยุทธ์ดำเนินการ CBL.
1. การประชาสัมพันธ์
2. กำหนดบทบาทหน้าที่
3. การให้ความรู้
4. ครูกับนักเรียนร่วมกัน
5. มีมาตรฐานครู
6. ประเมินผล

ข้อจำกัดหรือเงื่อนไข ของ CBL.
1. เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
2. เริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป
3. ทดลองในลักษณะโครงการนำร่อง

หลักธรรมที่ส่งเสริมความสำเร็จ
อิทธิบาท  4  เป็นหลักธรรมที่ส่งเสริมความสำเร็จ  ประกอบด้วย
1. ฉันทะ  ความพึงพอใจในงานที่ทำ
2. วิริยะ  ความเพียร
3. จิตตะ  ความใฝ่ใจ
4. วิมังสา  การไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผล